หัวข้อที่ 4 การเขียนเนื้อหาของ portfolio

Portfolio คืออะไร

Portfolio คือ แฟ้มสะสมผลงานที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่มีความสอดคล้องกับสาขาที่สมัครเรียน ซึ่ง portfolio นั้นจะช่วยให้คณะกรรมการได้มองเห็นถึงความเป็นตัวตนของเราอีกทั้งยังช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ ความสามารถ ทักษะที่มี กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม รวมถึงการมีโอกาสได้รับรางวัลต่าง ๆ อีกด้วย

องค์ประกอบของ Portfolio ที่ใช้ในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย มีอะไรบ้าง?

1. หน้าปก

ส่วนแรกและส่วนสำคัญของ Portfolio คงหนีไม่พ้นหน้าปก ซึ่งจะต้องออกแบบออกมาให้โดเด่น เพื่อดึงดูดให้คณะกรรมการอยากหยิบขึ้นมาเปิดดู โดยรายละเอียดสำคัญที่ควรระบุไว้ที่หน้าปก คือ รูปถ่าย ชื่อ นามสกุล และชื่อโรงเรียน

2. ประวัติส่วนตัว

ถือเป็นส่วนแรกที่จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเราได้ละเอียดและลึกมากขึ้น โดยข้อมูลที่แนะนำว่าควรจะมี ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น วันเดือนปีเกิด อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา จำนวนพี่น้อง จบการศึกษาหรือกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนใด รวมถึงระบุระดับชั้น สายการเรียน ชื่อบิดา มารดา เป็นต้น

3. ประวัติการศึกษา

เป็นส่วนที่จะช่วยให้คณะกรรมการได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของเรา โดยสามารถใส่ข้อมูลได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลหรืแประถมศึกษา ไปจนถึงระดับการศึกษาปัจจุบันได้เลย ทั้งนี้ แนะนำให้สรุปข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของตาราง จะช่วยทำให้อ่านง่ายมากยิ่งขึ้น

4. ผลงาน

ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของ Portfolio เพราะจะทำให้คณะกรรมการมองเห็นศักยภาพและทักษะของตัวเราได้เป็นอย่างดี โดยแนะนำว่าให้เลือกผลงานที่มีความโดดเด่นเข้ามานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศก็ได้ และหากเป็นไปได้ แนะนำให้เลือกผลงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาที่เราสมัครเรียน แต่หากไม่มีก็เลือกที่โดเด่นที่สุดที่เรามีได้เลย และอย่าลืมบรรยายซักเล็กน้อยว่าผลงั้นนั้น ๆ ทำที่ไหน เมื่อไหร่ และเรามีส่วนเกี่ยวข้องใดกับผลงานนี้ เป็นต้น

5. คำนิยม

สำหรับส่วนนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะทำให้ Portfolio และประวัติต่างๆ ของเราดูน่าเชื่อถือขึ้นมากขึ้น เพราะคำนิยมคือสิ่งที่ครู-อาจารย์ได้เขียนถึงเราในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอ ความประพฤติ กิจกรรม ผลงาน ซึ่งจะพิมพ์หรือเขียนด้วยลายมือก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องมีลายเซ็นต์รับรองจากครู-อาจารย์ผู้เขียนด้วย

6. กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม

จะมีลักษณะคล้ายๆ กับผลงาน แต่จะเน้นไปในด้านที่ไม่ใช่วิชาการ เช่น ความสามารถพิเศษต่าง ๆ กิจกรรมกีฬาสี การเป็นประธานรุ่น เป็นประธานเชียร์ งานแสดงตามวันสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

7. รูปถ่าย

รูปถ่ายเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเราได้มีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง และได้ทำจริง ๆ ซึ่งแนะนำว่าควรมีรูปภาพประกอบทั้งในส่วนของประวัติส่วนตัว ผลงาน กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม หรือถ้าหากมีจำนวนมากก็สามารถใส่ไว้ในเอกสารอ้างอิงได้

8. ใบประกาศนียบัตร

เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่จะสามารถยืนยันได้ว่าเราได้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมหรือได้รับรางวัลต่าง ๆ จริง และหากมีความเกี่ยวข้องกับสาขาที่เราสมัครเรียนด้วยแล้วก็จะดีมาก ๆ และแนะนำว่าควรมีทั้งฉบับจริงและฉบับสำเนา เพราะอาจมีบางคณะที่จะไม่คืน Portfolio ให้หลังสัมภาษณ์เสร็จ

9. ใบแสดงผลการเรียน

ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันผลการเรียน รวมไปถึงความประพฤติต่างๆ จากโรงเรียนเดิม ซึ่งควรมีทั้งของระดับชั้น ม.ต้น และระดับชั้น ม.ปลาย

10. ภาคผนวก/เอกสารอ้างอิง

จะอยู่เป็นส่วนสุดท้ายของ Portfolio โดยมีไว้เพื่อรวบรวมเอกสารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพจากกิจกรรมหรือผลงานต่างๆ ที่หากมีจำนวนมากจะไม่แนะนำให้ใส่อัดแน่นในเนื้อหาของ Portfolio แต่ควรนำมาเก็บไว้ในภาคผนวกนี้แทน

เตรียม Portfolio ยื่น TCAS

การยื่นรอบ Portfolio ในระบบ TCAS แต่ละคณะ/สาขา มักจะมีการกำหนดรายละเอียดของแฟ้มสะสมผลงานที่ต้องยื่นว่าต้องมีรูปแบบอย่างไร จึงไม่ใช่ว่ามี Portfolio 1 ชุดแล้วจะสามารถสมัครได้ทุกคณะ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาส เราควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนทำ Portfolio ยื่น TCAS ดังนี้

1. ตรวจสอบเกณฑ์ของปีที่ผ่านมา ว่ามีการกำหนดให้ทำในรูปแบบใด

2. เก็บผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะสมัครไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

3. เข้าร่วมกิจกรรม หรือพัฒนาทักษะในด้านที่ตัวเองสนใจเป็นพิเศษไว้ต้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากเรามีความชำนาญ ก็จะสามารถลงแข่งขัน สร้างผลงานนำมาใช้ประกอบการยื่น Portfolio ได้

4. แม้ว่ารอบ Portfolio จะเป็นรอบที่ไม่ใช้คะแนน แต่ก็มีหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือหลักสูตรนานาชาติ ที่มักจะมีกำหนดการใช้คะแนนทดสอบความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น TOEIC, TOEFL, IELTS, CU-TEP, TU-GET ดังนั้น หากสาขาที่เราสนใจมีการกำหนดรับคะแนนเหล่านี้ด้วย ก็ควรเตรียมตัวและลงสอบเพื่อเก็บคะแนนไว้ใช้ยื่นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บางมหาวิทยาลัย อาจจะไม่กำหนดใช้ Portfolio ในรอบนี้ แต่อาจจะไปกำหนดให้ใช้เป็นผลการเรียนสะสม (GPAX), เรียงความ, การสอบสัมภาษณ์ หรือสอบปฏิบัติแทนได้ก็ได้ ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดการรับสมัครของสาขาที่เราสนใจไว้เพื่อเป็นแนวทางนั่นเอง

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการทำพอร์ตเข้ามหาวิทยาลัย

1. จัดเรียงเนื้อหาให้เป็นสัดส่วน แบ่งเป็นหมวดหมู่เพื่อให้อ่านง่าย

2. เขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่น ๆ

3. เน้นนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัครเรียน

4. มีรูปภาพประกอบกิจกรรมที่เคยทำ

5. หลีกเลี่ยงการใช้สีตัวอักษรที่หลากหลายจนเกินไป

6. ใส่ข้อมูลแต่พอดี ไม่อัดแน่นจนเยอะเกินไป

https://www.chulatutor.com/blog/wp-content/uploads/2023/08/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-portfolio-2.png

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โครงสร้างPortfolio

วิเคราะห์ตนเอง